วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แอฟริกัน ปิ๊กมี่ ดอร์เมาส์

แอฟริกัน ปิ๊กมี่ ดอร์เมาส์ (African pygmy dormouse) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Graphiurus murinus หรือ ฝรั่งบางคนจะเรียกมันว่ากระรอกจิ๋ว (micro squirrels)
ซึ่งถ้าอยากรู้ข้อมูลของเจ้าตัวจิ๋วนี่ควรใช้คำว่า pygmy dormouse และ micro squirrels จะทำให้หาง่ายขึ้น ตามตำราดอร์เมาส์มีหลากหลายชนิดและพบการกระจายในแหล่งใหญ่ ๆ คือญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป และแอฟริกา แต่ชนิดที่นิยมเลี้ยงคือ African pygmy dormouse จากแถบแอฟริกากลาง ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาญาติวงพงศา และ Edible Dormouse จากทางยุโรปซึ่งมีชื่อมาจากว่าคนโรมันในสมัยโบราณชอบกิน
ดอร์เมาส์มีรูปร่างและลักษณะนิสัยคล้ายไปทางกระรอกมากว่าหนู ขนาดตัวของมันยาวประมาณ 3-4 นิ้ว และมีหางฟูยาวเท่า ๆ กับตัว น้ำหนักของมันน่าจะประมาณ 25-50 กรัม ซึ่งจริง ๆ ก็ควรจะรู้น้ำหนักไว้นิดนึงเผื่อต้องพึ่งพาหมอยามจำเป็น สีขนของดอร์เมาส์จะเป็นสีเทาแบบชินชิลล่า (standard grey) และเท่าที่สังเกตจากเจ้าตัวเล็กของผมมันจะเปลี่ยนสีขนเป็นสีแดงทราย (sand red) เมื่อแก่ขึ้น
เท่าที่อ่านพบตามเว็บต่าง ๆ มักจะบอกว่ามันหากินกลางคืนซึ่งเป็นเวลาที่มันดูจะคึกคักที่สุด แต่มีเอกสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้คาดว่าในธรรมชาติเจ้าพวกนี้อาจจะหากินแทบทั้งวัน โดยเฉพาะตัวที่ยังโตไม่เต็มที่ เพราะป่าที่มันอยู่ในแถบแอฟริกานั้นเป็นป่าดิบชื้น ที่แทบไม่มีแสงส่องลงมาเลย ซึ่งเท่าที่สังเกตก็พบว่ามันไม่ค่อยชอบแสง และหากเรานอนกลางวันและปิดไฟ เจ้าตัวจิ๋วของก็ออกมาหาอาหารใส่ท้องตามปกติ
 
เค้าว่ากันว่ามันมีอายุในกรงเลี้ยงได้ประมาณ 5-6 ปี โดยพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป ในธรรมชาติอาจจะพบดอร์เมาส์อยู่รวมกันมากถึง 20ตัวในครอบครัวเดียว แต่ก็ยังไม่มีรายงานว่าระบบการเลือกคู่ผสมพันธุ์ในธรรมชาติเป็นอย่างไร แต่จากการสังเกตพบว่าเมื่อตัวผู้โตขึ้นจะเริ่มทะเลาะกันรุนแรง และแย่งกันผสมพันธุ์ตัวเมีย ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าหนูในธรรมชาติอาจจะอยู่ในลักษณะฮาเร็ม ที่มีตัวผู้ปกครองตัวเดียวและเมื่อลูกตัวผู้โตก็ต้องโดนขับไล่ออกไป หรืออาจจะเหมือนพวกเจอบิวที่ในธรรมชาติจะมีพ่อแม่ต้นสายหลักเพียงคู่เดียวแต่จะช่วยกันเลี้ยงลูกจนโต และตั้งหน้าตั้งตาผลิตต่อไปเรื่อย ๆ
ดอร์เมาส์เป็นสัตว์สังคม จึงควรเลี้ยงรวมเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม ส่วนของผมเลี้ยงตัวผู้1ต่อตัวเมีย 2 และคิดว่าไม่ควรเลี้ยงตัวผู้ไว้รวมกันหากมีพื้นที่ไม่กว้างพอ แต่ข้อดีของดอร์เมาส์คือปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่ได้เร็วมาก แค่คืนเดียวก็ร่วมหอกันได้แบบไม่ one night stand
ถ้าไม่อยากให้ดุต้องป้อนแต่เล็กเราสามารถเลี้ยงให้ดอร์เมาส์คุ้นมือได้ (hand tame, ไม่ใช่เชื่อง หรือ tame เพราะมันไม่เชื่อง ไม่อ้อนคนเลี้ยงหรือสามารถสอนให้เต้นระบำได้ แต่ไม่กลัวการโดนจับ และไม่ตื่นคน)
แต่ต้องเริ่มจากช่วงแรก ๆ คือไม่เกินสามอาทิตย์หลังจากออกจากท้องแม่ ตามประสบการณ์แล้วการนำออกมาช่วง 12-15 วัน ลูกหนูจะคุ้นมือเร็วกว่าแต่อัตราการรอดต่ำและกินนมยากกว่า ดังนั้นควรนำออกมาช่วง 18-20 วันจะปลอดภัยมากกว่า อาหารที่ป้อนคือซีลีแล็คสูตรเริ่มต้น โดยที่อึหนูตอนแยกออกจากแม่จะมีสีดำและค่อนข้างแข็งแต่เมื่อเราเอามาป้อนเองอึจะเหลวและเป็นเมือกมากขึ้นซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่หากมีอาการท้องเสียอึจะมีกลิ่นเหม็นและหนูจะดูอ่อนเปลี้ยกว่าปกติ
เมื่อเอาออกมาแล้วไม่ควรนำกลับไปให้แม่แล้ว เพราะดอร์เมาส์บางตัวโดยเฉพาะพวกที่จับมาจากป่าอาจจะกินลูกเหมือนหนูแฮมเตอร์ แต่ชาวต่างชาติบอกว่าถ้าแม่หนูค่อนข้างคุ้นเคยกับคนการกินลูกจะลดลงและเราไม่ต้องป้อนเองก็ได้ แต่ให้จับลูกหนูมาเล่นบ่อย ๆ ถ้าแม่มันไม่หวงอ่ะนะครับ
ลูกดอร์เมาส์จะหย่านมในอาทิตย์ที่ 5 คือหลังออกจากท้องแม่ราว 30 วัน และไม่ต้องตกใจหากเรายื่นมือลงไปจับแล้วเจ้าตัวเล็กจะงับนิ้วเพราะมันกำลังสำรวจมือเราเหมือนกับที่สำรวจอาหาร เมื่อโตขึ้นและคุ้นเคยกับเรา อาการงับแง๊บๆจะลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนตัวของมันเอง มันชอบวิ่งไปมาขนตัวเจ้าของมากกว่าจะนั่งนิ่ง ๆ ในมือ และซอกหลืบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปกเสื้อ กระเป๋า และไม่เว้นแม้แต่ซอกอุ่นตรงกลางอกของสาว ๆ ก็เป็นจุดโปรดของเจ้าจิ๋วที่จะวิ่งเข้าไปซุกซ่อนตัวเช่นกัน
เมื่อถึงวัยผสมพันธุ์ตัวผู้จะร้องคริ๊กๆๆๆ สั้น ๆ แต่รัวคล้ายจิ้งหรีด ซึ่งก็น่าจะเป็นการร้องจีบ บทบาทลีลารักดูเหมือนจะรุนแรงหน่อย เพราะตัวเมียมักจะไม่ค่อยยอมนักในตอนแรก ๆ แต่หลังจากนั้นแม่หนูก็จะอ้วนขึ้น และเต้านมเริ่มเห็นชัดเจน ตามตำราว่ามันจะตั้งท้องราว 30-45 วัน ดอร์เมาส์ออกลูกได้ 2-10 ตัว ซึ่งผมเคยได้สูงสุด 8 ตัวในครอกล่าสุด และแม้หลายตำราจะบอกว่ามันมีลูกได้ปีละครั้ง แต่ด้วยอากาศที่เอื้อต่อการผลิตลูกในบ้านเราผมคิดว่าน่าจะมีได้ถึงปีละ 2-3 ครั้ง ซึ่งตามหลักฐานจากบ้านของพี่ที่เป็นเจ้าของต้นสายดอร์เมาส์ของผม ก็มีดอร์เมาส์ตัวแดง ๆ ให้เห็นในตู้ที่เลี้ยงบ่อยครั้งในรอบปี

มีคนกล่าวว่าดอร์เมาส์มีชั้นเชิงสูงยิ่งกว่านินจาในการหาทางหนีออกจากกรงด้วยการรีดตัวผ่านรูหรือช่องเล็ก ๆ ที่เราไม่คิดว่ามันจะทำได้ ดังนั้นกรงเลี้ยงที่ดีที่สุดสำหรับดอร์เมาส์คือตู้ปลาที่ปิดด้วยตะแกรงขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งเราก็หาซื้อตะแกรงลวดมาทำเองได้ในราคาเมตรละไม่ถึงร้อยบาท แต่ระหว่างเวลาที่มันคึกคักมาก ๆ ผากรงจะเป็นที่ที่ถูกใช้มากที่สุดในการปีนป่าย แน่นอนว่าคุณต้องระวังมันให้ดีเลยแหละ

ฝรั่งเค้าว่าตู้ปลาขนาด 20 นิ้วเป็นขนาดเริ่มต้นสำหรับดอร์เมาส์ 2 ตัว แต่ขนาดบ้านที่ใหญ่ขึ้นย่อมเป็นผลดีกับสัตว์ทุกชนิด ผมเองใช้ตู้ขนาด 20 และพึ่งไปเจอตระกร้าใส่น้องหมาที่มีตาข่ายค่อนข้างละเอียด ซึ่งก็ใช้ได้ดี และทำให้อากาศระบายได้สะดวก วัสดุพื้นตู้ที่ใช้ได้ เช่น ฝอยกระดาษ ฝอยกระดาษลัง ขี้เลื่อย ซังข้าวโพดหรือทรายสำเร็จรูปสำหรับแฮมเตอร์ ซึ่งข้อดีข้อเสียมีแตกต่างกัน ความหนาที่เหมาะน่าจะประมาณ 2 นิ้ว และควรใส่หญ้าแห้งหรือเศษไหมพรมไว้ให้มันคาบไปรองรังนอนด้วย

ในธรรมชาติดอร์เมาส์ใช้เวลาส่วนมากปีนป่ายหาอาหารในพุ่มไม้ ดังนั้นกิ่งไม้แห้งที่ทำความสะอาดอย่างดี เชือก และของเล่นไม้สำหรับปีนเล่นจึงน่าจะมีในกรงเลี้ยง ล้อวิ่งก็น่าจะทำให้มันได้เล่นเต็มที่ได้แต่ต้องเลือกชนิดที่ไม่มีซี่ล้อเพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหางขาดได้หากวิ่งเร็ว ๆ ส่วนตัวผมใช้กงล้อแบบเล็กสุดของแฮมเตอร์ที่มีลูกปืนทำให้เสียงเงียบและทนทานมากขึ้น

รังนอนที่ทำด้วยกล่องไม้ หรือวัสดุอื่น ๆ ที่สัตว์แทะได้ก็จำเป็นสำหรับหลบนอนในเวลากลางวัน มีผู้แนะนำว่าควรใส่รังนอนให้เกินจำนวนหนูไป หนึ่งรังเสมอ เช่นหากมีดอร์เมาส์ 2 ตัวให้ใส่รังนอน 3 รังเป็นต้น รังนอนที่หาได้ง่าย ๆ เช่นบ้านแฮมเตอร์สำเส็จรูปทั้งไม้และดินเผา กระถางต้นไม้ หรือโอ่งดินเผาขนาดเล็กที่ทุบแบ่งครึ่งก็ใช้ได้ดีและทำความสะอาดได้ง่าย

ถ้วยอาหารของดอร์เมาส์ควรทำด้วยเซรามิก ใบแรกใช้ใส่อาหารชนิดแห้ง และอีกใบสำหรับใส่อาหารเปียก การให้น้ำควรใช้ขวดน้ำแบบปลายลูกกลิ้งซึ่งผมเลือกใช้แบบที่ค่อนข้างแพงเพราะมันจะเจอปัญหาว่าบางยี่ห้อน้ำไม่ไหลเมื่อหนูหิวน้ำและเข้าไปเลียซึ่งอันตรายมาก แต่หากใครมีเวลาดูแลเปลี่ยนน้ำเปลี่ยนอาหาร การเอาน้ำใส่ถ้วยเล็ก ๆ ให้หนูเลียกินเองก็ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

การดูแลและอาหารการกิน
อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงดอร์มาส์ คือ ไม่ต่ำกว่า 70 องศาฟาเรนไฮต์ หรือราว 24 องศาเซลเซียส เนื่องจากในธรรมชาติหากมีอุณหภูมิต่ำลงดอร์เมาส์จะเริ่มนอนจำศีล ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับสัตว์ที่อยู่ในกรงเลี้ยงซึ่งไม่มีการสะสมอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้เลี้ยงเจ้าจิ๋วไว้ในห้องแอร์ และถึงแม้เสียงจะไม่ดังแต่กลิ่นของเสียก็ค่อนข้างแรงเช่นเดียวกับหนูทั่ว ๆ ไป (เหม็นกว่าเจอบิว แต่ไม่เท่าแฮมเตอร์และแกสบี้)

ตามตำราเค้าว่าในธรรมชาติดอร์เมาส์กินอาหารหลากหลายมาก ทั้งพวกเมล็ดพืช ลูกไม้ ถั่ว ไข่นก และแมลง ดังนั้นอาหารที่เหมาะสมสำหรับดอร์เมาส์ในกรงเลี้ยง คืออาหารสำเร็จรูปสำหรับแฮมเตอร์ ผสมด้วยเมล็ดพืชต่าง ๆ เป็นหลัก และเสริมด้วยแหล่งโปรตีนพิเศษ แต่ที่เลี้ยงอยู่ ผมผสมอาหารเองด้วยวัตถุดิบหลายอย่าง เช่น อาหารเม็ดแฮมเตอร์ อาหารเม็ดแกสบี้ อาหารแมวไขมันต่ำ กระดองปลาหมึกตำหยาบ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ลูกเกด ข้าวฟ่าง ข้าวสาร อาหารหมูอ่อน และอาหารไข่แห้ง แล้วเสริมด้วยนมอัดเม็ด โยเกิร์ต น้ำผสมไม้ ผสมไม้สด ซีลีแล็ค ขนมหมากลิ่นไก่ โยเกิร์ต ซีลีแล๊ค นมอัดเม็ด ผลไม้สุก ผักสด ขนมปัง และไม่ต้องกลัวว่าจะไม่กินเพราะมันซัดทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่ปากเป็ดท้อง และแกนแอปเปิ้ล ยกเว้นอันที่ไม่ชอบจริง ๆ ก็ดม ๆ แล้วเมินไปซะ

หลายคนเคยเลี้ยงดอร์เมาส์แล้วไม่ชอบเพราะมันไม่เชื่องสนิทเหมือนสัตว์อื่น ๆ ผมว่าในกรณีนี้มักจะเป็นรุนแรงในดอร์เมาส์ป่า หรือตัวที่ไม่ได้ป้อนและไม่คุ้นเคยกับการสัมผัสจากคนตอนยังเล็ก ซึ่งดอร์เมาส์ที่เป็นลูกป้อนจะลดความตื่นคนลง แต่ด้วยสัญชาติญาณที่เป็นเหยื่อของสัตว์ใหญ่ในธรรมชาติทำให้ดอร์เมาส์ค่อนข้างตื่นง่าย ไม่ชอบแสง และไม่ชอบการเคลื่อนไหวที่วูบวาบ ซึ่งหากใครใจเย็นพอที่จะดูแลดอร์เมาส์ในช่วงเล็ก ๆ และให้เวลาเล่นกับเจ้าจิ๋วทุก ๆ วันหรือสองสามวันครั้ง ก็จะทำให้อาการกลัวคนลดลงมาก ซึ่งในบรรดาดอร์เมาส์ของผมก็มีเจ้า “อ้วนอ้วน” ที่คุ้นมือผมมาก เพราะเป็นตัวที่ผมทดลองป้อนตัวแรก ทุกครั้งที่ยื่นมือลงไปในตู้มันก็จะรีบวิ่งขึ้นมา และอยู่นิ่ง ๆ ให้ผมลูบหัวหรือถ่ายรูปอยู่บนมือได้นานสองนานก่อนจะวิ่งตามแขนขึ้นมานอนในปกคอเสื้อ แต่เนื่องจากอ้วนอ้วนมีอาการบวมผิดปกติ คือ ขนาดใหญ่กว่าหนูตัวอื่นเป็นสองเท่า ผมจึงแยกให้อยู่เดี่ยว เพื่อป้องกันการผสมกับตัวอื่น ๆ สาวแก่นางนี้จึงทำหน้าที่เลี้ยงต้อยคอยอยู่กับเด็ก ๆ เวลาที่ต้องแยกกับแม่ออกมาเผชิญโลกแห่งความจริง

เพศของลูกดอร์เมาส์จะดูออกเมื่ออายุเกินหนึ่งเดือนไปแล้ว และถุงหุ้มอัณฑะจะห้อยให้เห็นชัดเจนเมื่ออายุราวสองถึงสามเดือนขึ้นไป

1 ความคิดเห็น: